วิสาหกิจชุมชน (community enterprise)
วิสาหกิจชุมชน (community enterprise) หมายถึง กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า
การให้บริการหรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน
มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว
ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใด หรือไม่เป็นนิติบุคคล
เพื่อสร้างราได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน
ความหมายของวิสาหกิจชุมชนโดยสรุป คือ การประกอบการเพื่อการจัดการ "ทุนของชุมชน"
อย่างสร้างสรรค์เพื่อการพึ่งตนเอง
"ทุนของชุมชน" ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงเงิน แต่รวมถึงทรัพยากร ผลผลิต ความรู้
ภูมิปัญญา ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม (กฎเกณฑ์ทางสังคมที่ร้อยรัดผู้คนให้อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน
เป็นพี่เป็นน้องไว้ใจกัน)
ลักษณะสำคัญของวิสาหกิจชุมชน มีองค์ประกอบอย่างน้อย 7 ประการ
1. ชุมชนเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการ
2. ผลผลิตมาจากกระบวนการในชุมชน โดยใช้วัตถุดิบ
ทรัพยากร ทุน แรงงานในชุมชน เป็นหลัก
3. ริเริ่มสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมของชุมชน
4. เป็นฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานภูมิปัญญาสากล
5.มีการดำเนินการแบบบูรณาการ เชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ
อย่างเป็นระบบ
6.มีกระบวนการเรียนรู้เป็นหัวใจ
7.มีการพึ่งพาตนเองของครอบครัวและชุมชนเป็นเป้าหมาย
เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หมายถึง คณะบุคคลที่รวมตัวกัน
โดยมีวัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน
ของวิสาหกิจชุมชนในเครือข่าย
พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
ความเป็นมา
ในชุมชนมีการรวมตัวกันเพื่อประกอบธุรกิจในระดับรากหญ้าอยู่มากมาย
ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังมีขนาดไม่ถึงวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SME) หรือสหกรณ์
แต่เป็นธุรกิจที่สามารถช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศได้ในระดับหนึ่ง
ธุรกิจในระดับนี้ยังมีปัญหาที่ประสบอยู่ คือ
- ไม่เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานรัฐหรือเอกชนอื่น
ๆ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ
- การสนับสนุนจากภาครัฐไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง
เนื่องจากข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย และความต้องการไม่ชัดเจน
รัฐบาลจึงกำหนดให้มีการออกกฎหมายรองรับการประกอบการ
หลักการ
เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง
ซึ่งจำนวนหนึ่งอยู่ในระดับที่ไม่พร้อมจะเข้ามาแข่งขันทางการค้า
ให้ได้รับการส่งเสริมความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น การสร้างรายได้
การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การพัฒนาความสามารถในการจัดการ
และพัฒนารูปแบบของวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการของหน่วยธุรกิจที่สูงขึ้น
การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
กฎหมายกำหนดให้มีการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนอย่างครบวงจร
1. ระดับปฐมภูมิ
ส่งเสริมการจัดตั้ง การให้ความรู้ การศึกษาวิจัย ในการนำทุนชุมชนมาใช้เหมาะสม
การร่วมมือกันในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้
2. ระดับสูงขึ้น
ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การรักษาคุณภาพ การศึกษาวิจัยเทคโนโลยีและการตลาด
การสร้างความเชื่อถือทางธุรกิจ และความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
การประสานงานแหล่งเงินทุน
เพื่อให้สามารถเป็นผู้ประกอบการหรือพัฒนาไปสู่การประกอบธุรกิจขนาดย่อม และขนาดกลาง
ต่อไป
3. การส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน
รัฐจะให้การสนับสนุนการจัดตั้งการประกอบการ การตลาด
ความสัมพันธ์และความร่วมมือกันระหว่างเครือข่าย หรือภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอื่น
เพื่อขยายและสร้างความมั่นคงให้แก่กิจการวิสาหกิจชุมชน
ประโยชน์ของวิสาหกิจชุมชน
1.การรวมตัวกันของเกษตรกรในการประกอบธุรกิจในระดับชุมชน
มีความมั่นคง ได้รับการรับรองตามกฎหมาย
2.การส่งเสริมความรู้
ภูมิปัญญาท้องถิ่น การพัฒนาความสามารถในการจัดการ ตรงตามความต้องการที่แท้จริง
3.ระบบเศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง
พึ่งพาตนเองได้ มีความพร้อมที่จะพัฒนาสำหรับการแข่งขันทางการค้าในอนาคต
บทบาทของการส่งเสริมการเกษตร
1. เป็นหน่วยงานนิติบุคคลตามพรบ.
ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในการรับจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน
และการเลิกกิจการของวิสาหกิจชุมชนและเครือข่าย
2. เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเลขานุการ
โดยมีผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร และผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
3. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน
อย่างครบวงจร
4. ประสานงานในการให้การสนับสนุนแก่กิจการวิสาหกิจชุมชนที่มีปัญหาเกี่ยวกับเงินทุนในการประกอบการ
5. จัดให้มีการฝึกอบรมหรือการถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์และเป็นไปตามความต้องการของวิสาหกิจชุมชน
ทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต การจัดการ การบัญชี ภาษีอากร และการตลาด
การเตรียมความพร้อมของกรมส่งเสริมการเกษตร
1. จัดเตรียมยกร่างหลักเกณฑ์
กฎระเบียบในการปฏิบัติงาน ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
เพื่อประกาศเป็นข้อกำหนดในการปฏิบัติงาน
2. เตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในระดับต่าง
ๆ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้รับทราบและเข้าใจบทบาทหน้าที่
3. เตรียมเนื้องานที่ประกอบด้วยโครงสร้างและเนื้อหาที่ชัดเจน
ให้มีความพร้อมปฏิบัติงานได้ทันทีที่พระราชบัญญัติประกาศใช้